“วิทยา” ส่งทีมกำจัดยุงในพื้นที่น้ำท่วมขัง ให้หน่วยสธ.เตรียมพร้อมรับมือพายุ“แกมี่”


        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลงพื้นที่กำจัดยุงในพื้นที่น้ำท่วมขัง    ใน จ.พระนครศรีอยุธยา และประสานขออีเอ็มบอลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อกำจัดกลิ่นน้ำเน่าเหม็น และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเตรียมรับมือพายุ “แกมี่” ทั้งด้านการป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาล และเตรียมพร้อมทีมแพทย์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง สำรวจเวชภัณฑ์ยาให้มีใช้เพียงพอ ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในรอบ 24 วัน มีผู้ป่วยกว่า 37,000 ราย

          จากกรณีที่ประชาชนในหลายชุมชนที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ใน อ.บางบาล อ.บางปะอิน  จ.พระนครศรีอยุธยา ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำเริ่มเน่าเสีย และมียุงชุมนั้น ความคืบหน้าดังกล่าว นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  ในวันนี้ (3 ตุลาคม 2555)  ได้จัดส่งทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จำนวน 1 ทีม ลงพื้นที่อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางไทร และ อ.บางปะอิน เพื่อประเมินสภาพปัญหาและทำการฉีดสารเคมีพ่นฆ่ายุงร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำยาทากันยุงไปแจกเพื่อป้องกันยุงกัด ให้เร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกชนิด และประสานงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอสนับสนุนอีเอ็มบอล เพื่อนำไปบำบัดน้ำขังที่เน่าเสีย ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค  รวมทั้งให้ดำเนินการเรื่องนี้ในพื้นที่อื่นๆที่ประสบภัยและมีน้ำท่วมขังด้วยเช่นที่ปราจีนบุรี  สระแก้ว เป็นต้น

          นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 30 จังหวัดที่อยู่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน  ให้เตรียมรับมือพายุแกมี่ (GAEMI)  ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบกับประเทศไทย มีฝนตกในช่วงวันที่ 4-8 ตุลาคม 2555 โดยให้เตรียมป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาล สำรวจเวชภัณฑ์ ยาให้มีใช้เพียงพอ และเตรียมพร้อมหน่วยกู้ชีพ รวมทั้งชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติหรือทีมเมิร์ท (Medical Emergency Response Team: MERT) พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ฟรี

          ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพื้นที่ประสบภัยตั้งแต่ 9 กันยายน 2555- 2 ตุลาคม 2555 รวม 24 วัน พบผู้ป่วยทั้งหมด 37,719 ราย เฉลี่ยวันละ 1,571 ราย  ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ได้ออกเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้และนอนพักฟื้นดูแลที่บ้านจำนวน  9,528 ราย  โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้การดูแลผู้ประสบภัยจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ และดูแลฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดให้ปลอดภัยทั้งน้ำ อาหาร  สุขาภิบาลและโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วมด้วย      

 **********************************   3 ตุลาคม 2555


แหล่งข่าวโดย » สำนักสารนิเทศ 
[ตุลาคม พุธ 3,พ.ศ 2555 13:32:12] 
พิมพ์ข่าว

  ลิขสิทธิ์ โดย สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2553 © 2010 |